วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีการสอนแบบกรณีศึกษา (Case Based Learning)

วิธีการสอนแบบกรณีศึกษา (Case Based Learning)

  โดย น้ำทิพย์  ม่วงปลอด







วิธีการสอนแบบกรณีศึกษา (Case Based Learning)

กรณีศึกษาที่ครูน่านำสอน 

ทฤษฎีต่างๆ ในการทำงานเกิดขึ้นมาจากการที่คณะได้ทำงานนำมาสรุปเป็นบทเรียนเป็นทฤษฎีจึงเป็น “ทฤษฎีที่เกิดจากทฤษทำ” ไม่ใช่มาจากการท่องจำตำรา

                                                                                                                                         บอกกล่าวเล่านำเรื่อง
               
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึง 2540  ผมมีโอกาสได้เข้าไปร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอน  กรณีศึกษาป่าชุมชน  กับเพื่อนครูที่อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย  โดยมี  ผศ.ดร.สุวัฒนา  สุวรรณเขตนิคม   ดร.เบญจลักษณ์  น้ำฟ้า  และอาจารย์สมชัย  แซ่เจีย  (ศน.  เวียงป่าเป้า  ในขณะนั้น)  เป็นผู้นำในการจัดการเรียนรู้  สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นคือไม่มีหนังสือตำราวิชาการมานั่งกางอ่านเพื่อนำแบบไปสอน  ไม่มีทฤษฎีที่มาคอยขีดกั้นให้เราเดินไปตามทางที่กำหนด  ไม่มีคนมาคอยจับผิดแต่มีการร่วมเรียนรู้กันระหว่างผู้นำการจัดการเรียนรู้  ผู้สอน  ผู้เรียน  และชุมชนที่เป็นผู้เรียนรู้  และผู้เชี่ยวชาญหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น  บทเรียนที่เราพบเห็นจากการปฏิบัติงาน  คือ  ข้อมูลความรู้ที่เราได้มาแล้วเราร่วมกันเสวนาสรุปเป็นองค์ความรู้นำไปปฏิบัติต่อ  แล้วมาเสวนาซ้ำสรุปเป็นทฤษฎีของงานชิ้นนั้นๆ  ดังนั้น  ทฤษฎีต่างๆ  ในการทำงานเกิดขึ้นมาจากการที่คณะได้ทำงานนำมาสรุปเป็นบทเรียนเป็นทฤษฎีจึงเป็น “ทฤษฎีที่เกิดจากทฤษทำ”  ไม่ใช่มาจากการท่องจำตำรา
                ผมประทับใจต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เราจัดขึ้นมา  ซึ่งจะขอนำมาเล่าสู่กันและกัน  ดังนี้
                การเตรียมการสอน  คณะครูผู้สอนจะเตรียมการสอน  โดยการนั่งเสวนาถกและเถียงกันว่า  ทำอย่างนี้  ทำทำไม ทำแล้วจะหวังผลใด  ทำอย่างใดจึงน่าจะเกิดผลอย่างนี้  เมื่อตกลงกันได้  ก็กำหนดกิจกรรมนำสอน  สิ่งที่ผมประทับใจมาก  คือ  ทดลองสอนกันก่อน  ก็ผู้ร่วมเสวนานั่นแหละผลัดกันเป็นครู  เป็นนักเรียน  ดูว่ามันติดขัดตรงไหนปรับแก้ไขให้ดูราบรื่นขึ้น  ตกลงได้ที่ก็ร่วมกันจัดทำแผนการเรียนรู้  แล้วนำไปสอน  ตกกลางคืนนำผลที่สอนมาเสวนาหาจุดเด่นจุดด้อยกัน  บางอย่างบางประเด็นเราสามารถเขียนสรุปเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีสอนได้
                จุดเด่นของการสอนวันนี้  เรานำไปเติมเต็มในกิจกรรมพรุ่งนี้  จุดอ่อนของวันนี้เรานำไปปรับปรุงในกิจกรรมวันพรุ่งนี้  เราทำกันอย่างนี้  เราเตรียมการสอนกันอย่างนี้  ผลที่ได้รับคือ  นักเรียนเก่ง  ดี  มีความสุข
                ที่บอกว่า  เก่ง  เพราะเราพบว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้จักตนเองควบคู่ไปกับเรียนรู้เนื้อหาสาระที่กำลังเรียนอยู่  ทั้งนี้เพราะบทเรียน  กิจกรรมการเรียน  เราเตรียมสอนคนไม่ใช่สอนหนังสือ  นักเรียนเรียนไปแต่ละวันจะต้องร่วมกันสรุปว่า
-          ได้เรียนรู้อะไรในเนื้อหาวิชา
-          ได้เรียนรู้อะไรที่เกี่ยวกับตนเองบ้าง
-          ได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นด้วยวิธีการใด
-          มีความรู้สึกอย่างไรต่อการเรียนรู้ครั้งนี้
นี่คือบทสรุปที่ดีที่ครูผู้สอน  ได้แทรกเข้าไปในการเรียนรู้  เรียกว่า  กระตุ้นคุณธรรมจริยธรรม  ให้ผู้เรียนเขย่าตัวเองให้ผุดพรายขึ้นมาในตัวตนของผู้เรียนเอง
                การถามถึงความรู้สึกและรู้ได้อย่างไร  คือ  การเขย่าสติสัมปชัญญะของผู้นั้นให้ตื่นขึ้นมาบ่อยๆ ถ้าเขารู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้  ทรงสติที่สงบได้คือคนเก่ง
                ดี  ตรงที่ผู้เรียนรู้ตนเองว่า  เป็นใคร  กำลังทำอะไร  การรู้ตนเองของผู้เรียนส่งผลให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน  ตั้งใจร่วมกิจกรรมกับชุมชนจนชุมชนยอมรับและเข้ามาร่วมมือ  ร่วมใจ  ร่วมเรียนรู้  และร่วมพัฒนากิจกรรมชุมชนอย่างต่อเนื่อง  นี่คือความดี
                มีสุข  เมื่อผลการเรียนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม  เป็นที่ยอมรับของชุมชน  ของสังคม  ทั้งภายในจังหวัดและประเทศ  ทุกคนพอใจก็เป็นสุข
                บทเรียนที่ครูยึดวิธีการค้นหาความรู้มากกว่าเนื้อหาความรู้นั้น  ส่งผลให้ครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติวิชา  และธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน  ส่งผลให้เรียนแบบไม่เครียด  แต่สามารถไปเสริมในพฤติกรรมผู้เรียนให้เป็นคนดีได้  คือ
1. มีนิสัยรับผิดขอบต่องาน  เช่น  รู้จักจัดการกับข้อมูลความรู้ที่ได้มาอย่างเป็นระบบ
2. มีความกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลต่อชุมชน
3. รู้จักนำวิธีการเรียนรู้ที่เรียนอยู่ไปหาความรู้ในเรื่องอื่นๆ ได้
4. รู้จักตนเองว่าเป็นใคร  ทำอะไร  ส่งผลให้สมาธิการเรียนไม่สั้น  ทำงานตามหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาป่าชุมชน  ที่อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงรายนั้น  ผมเห็นว่ามีประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาก  และผมคิดต่อไปว่า  ไม่จำเป็นต้องศึกษากรณีป่าชุมชน  ศึกษาเรื่องอื่นๆ ก็ได้  เช่น  กรณีศึกษาชุมชนของเรา  กรณีศึกษาตลาดชุมชน  กรณีศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเรากับชุมชนใกล้เคียง ฯลฯ  เพียงแต่ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องตระหนักรู้ได้แน่ชัดว่า  การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา   ไม่ใช่การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Work)  แต่ทั้งสองแบบนี้มีความเนื่องกันอยู่ในบางสิ่งบางอย่าง  หมายความว่าอาศัยกันได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
การเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่จะต้องเจาะลึกถึงเรื่องราวในอดีต  เพื่อนำมารู้จักปัจจุบันและอาจฝันไปถุงอนาคตได้  ดังนั้นผู้สอนและผู้เรียนควรมีพื้นฐานด้านสังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์กักตุนไว้ในตนให้มากพอสมควร  เพราะความรู้ด้านนี้จะช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเข้าถึงแก่นความเป็นไปได้ของเรื่องราวนั้นๆ
โลกของการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา  เป็นโลกที่ผู้สอนจะต้องนำผู้เรียนเดินย้อนรอยกลับสู่อดีต  เพื่อค้นหาที่มาของสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน  ทำให้มองเห็นสภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ตรงนี้เองที่สามารถกล่าวได้ว่าศิลปะแห่งการย้อนรอยอดีตสู่ปัจจุบันด้วยกลวิธีการตั้งคำถาม  มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ยิ่งนักและกล้ากล่าวได้ว่ามีความชำนาญในการตั้งคำถามสืบค้นคำตอบนั้น  สามารถนำมาใช้ในการแกะรอยหรือเจาะเรื่องราวในวรรณกรรมและวรรณคดีต่างๆ ได้อย่างมีคุณค่าต่อการเรียนรู้
มีอยู่หลายครั้งที่คณะครูเดินทางไปดูการสอนของผมที่โรงเรียนคุรุชนพัฒนา  บางคนถามผมว่า  ผมสอนแบบ Story line ใช่ไหม  ผมตอบว่า  ใช่  บางคนถามผมว่า  ผมสอนแบบโครงงานใช่ไหม  ผมตอบว่า  ใช่  บางคนถามว่า  ผมสอนแบบใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)  ใช่ไหม  ผมตอบว่า  ใช่  และบางคนถามถึงทฤษฎีการเรียนแบบร่วมมือ  (Cooperative learning)  ใช่ไหม  ผมก็ตอบว่าใช่อีก  แม้จะถามว่าผมสอนแบบ Play & Learn  ใช่ไหม  ผมก็ตอบว่าใช่อีก  เพราะเมื่อผู้ถามรู้อะไร  เราอธิบายต่อเติมให้เขาก็จะเข้าใจเรื่องนั้นได้กระจ่างยิ่งขึ้น  ดีกว่าเรายัดเยียดสิ่งใหม่ให้เขาสับสน  ทีนี้ถามว่ากรณีศึกษาใช้ทฤษฎีใด  ตอบได้ว่าทุกทฤษฎีที่กล่าวถึงใช้ได้ทั้งนั้น  ทุกรูปแบบการเรียนรู้ที่กล่าวถึงข้างต้น  มีซ่อนอยู่ในกรณีศึกษาทั้งนั้น  กรณีศึกษาเปรียบเหมือนแม่น้ำที่มีลำธารซ่อนอยู่ข้างใน  และในทำนองเดียวกันนั้น  ในลำธารมีแม่น้ำซ่อนอยู่  ในขณะที่ผมนำวิธีการเรียนรู้แบบกรณีศึกษามาจัดให้ลูกศิษย์ของผมเรียนรู้ที่โรงเรียนคุรุชุมชนพัฒนานั้น  ผมเองก็เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนขึ้นมาด้วย  จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ พบว่า
บางครั้งเด็กๆ จะต้องค้นหาคำตอบด้วยวิธีการสืบหาข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน  ได้คำตอบมาแล้วยังไม่จุใจ  ก็ไปค้นหาเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อีก  ผมจึงเรียกวิธีเรียนนี้ว่า  เรียนแบบสืบค้น
บางครั้งเด็กๆ แว่วๆ ว่าข้อมูลนั้นน่าจะมีอีกประเด็นหนึ่ง  นักเรียนก็จะไปสืบหาความจริงจนรู้ที่มาแล้วจะไปสอบถามหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้  ผมเรียกว่า  เรียนแบบสืบสอบ
บางครั้งเด็กๆ เที่ยวสอบถามหาข้อมูลจากผู้รู้จนรู้ที่มาแล้ว  เขาก็จะเข้าไปในห้องสมุด  ค้นหาคำตอบ  ผมเรียกว่า  เรียนแบบสอบค้น
คำเหล่านี้  ผมเรียนรู้จากการสังเกตวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ ลูกศิษย์ของผม  แล้วผมก็นำมาหาชื่อเขียนบันทึกไว้
อีกอย่างหนึ่งผมเห็นว่า  การจัดการเรียนรู้แบบกรณีศึกษานี้  สามารถนำสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระ  มาหลอมรวมสอนด้วยการคลุกโขลกเข้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน  จัดกิจกรรมเรียนรู้ให้ลื่นไหลไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง  (ไม่ใช่ผูกเรื่องแบบ Story line)  ใช้ความจริงของความเป็นจริงในเรื่องที่เรียนรู้เป็นสถานการณ์เรียนรู้  ผู้เรียนค้นหาความรู้จากความเป็นจริง  นำมาเสวนา  หาข้อสรุปเป็นเรื่องราวการเรียนรู้ของตนเองได้
ผมได้นำวิธีการเรียนรู้แบบกรณีศึกษามาใช้สอนให้ผู้เรียน  เรียนรู้  เรื่องราวในวรรณกรรมและวรรณคดี  โดยที่ผู้เรียนตั้งคำถามเจาะลึกถึงเรื่องที่อยากรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้วนำมาเขียนถ่ายทอดสื่อสารให้ผู้อ่านรับทราบกันได้  รวมถึงสามารถเขียนบทกวีน้อย  ถ่ายทอดความรู้สึกลึกๆ ของตน  เผยแพร่ในรูปแบบบทเพลงจากกำปง  (หมู่บ้าน)  มาแล้ว  โดยนำกรณีศึกษานี้แหละไปฝึกไปสอนแบบสอดแทรกวิธีการเรียนเข้าไปในจิตวิญญาณของผู้เรียน
เมื่อผมเห็นคุณค่าของกรณีศึกษา  ผมจึงกล้าที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา  เหมือนกับที่ผมเคยเขียน Story line มาก่อนแล้ว
กรณีศึกษาที่ครูน่านำสอน  ไม่ใช่หนังสือที่รวบรวมทฤษฎีการสอน  หรือวิธีการสอนจากตำราต่างประเทศ  แต่เป็นการเปิดเผยบันทึกการสอนของครูคนหนึ่งในสยามประเทศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เรื่องราวเล่มนี้เป็นเรื่องที่เกิดจากการปฏิบัติตัวจริง  แล้วนำมาสรุปเป็นทฤษฎี  ไม่ใช่นำทฤษฎีไปทดลองแล้วสรุปรับรองทฤษฎีว่าใช่ว่าจริง
และด้วยความรู้สึกลึกๆ ผมเห็นว่ามีคุณครูมากมายที่สามารถคิดวิธีสอนได้ด้วยตนเอง  ผมอยากเห็นตำราการสอนของเพื่อนครูเหล่านั้นเกิดขึ้นในแผ่นดินสยามประเทศมากกว่านำตำราฝรั่งมาอบรมวิธีการสอนเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หมดไป  ดั่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว

ดูวิธีการสอนแบบกรณีศึกษา (Case Based Learning)









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น